วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

     

     
 จำนวนงานกับจำนวนวิศวกรสวนทางกันหรือเปล่า ?

     ฤดูจบการศึกษาของ นักเรียน นักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจจะเรียนต่อหรือทำงานในสายงานที่ตนเองถนัดหรือตรงกับที่ได้เรียนมาแต่จะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

     ผลสำรวจความต้องการทำงานของกรมการจัดหางาน ในปี 2553 พบว่า ผู้จบการศึกษาที่ตอบ
แบบ สำรวจ 370,623 คน ต้องการศึกษาต่อถึง 292,516 คน ส่วนผู้ต้องการทำงานมีเพียง 78,107 คน แบ่งเป็นปริญญาตรี 31,240 คน หรือ 40 % ส่วนใหญ่จบบริหารธุรกิจและวิทยาการจัดการ รองลงมาเป็นผู้ที่จบม.3 แล้วจะไปทำงาน จำนวน 15,767 คน หรือ 20.19 % ส่วนปวส.และอนุปริญญาที่จะไปทำงานมีจำนวน 14,637 คน หรือ 18.74 % ส่วนใหญ่จบจากด้านพาณิชยกรรม ผู้จบม.6 และต้องการทำงาน มีจำนวน 9,574 คน หรือ 12.26 % แต่น้อยที่สุด คือ ปวช. มีเพียง 6,889 คนหรือ 8.82 % เท่านั้นที่จะทำงานและส่วนใหญ่จะจบด้านพาณิชยกรรม

     สวนทางกับตัวเลขความต้องการแรงงานใน 6 อุตสาหกรรมหลักของสภาอุตสาหกรรมแห่ง
ประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2554-2558) กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลโลหะการ และเครื่องจักรกลการเกษตรนั้นต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 248,862 คน หรือเพิ่ม 19.26% จากปี 2553 ซึ่งขณะนั้นมี 1.29 ล้านคน

     ดังนั้นตัวเลขการจ้างงานรวมของ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2558 จะเป็นจำนวน 1.54 ล้านคน แบ่งเป็นต้องการจ้างผู้จบม. 3 และ ม.6 จำนวน 131,628 คน หรือ 52.89 % ระดับ ปวช. จำนวน 37,829 คน หรือ 15.20 % ระดับ ปวส. จำนวน 51,813 คน หรือ 20.82 % และปริญญาตรี จำนวน 27,591 คน หรือ 11.09 %ในระดับ ปวช. และ ปวส. สาขาที่ต้องการมากที่สุด คือ ช่างกลโรงงาน จำนวน 49,813 คน คิดเป็น 55.57 % รองลงมาคือ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 17,885 คน คิดเป็น 19.95 % และช่างยนต์ จำนวน 10,356 คน คิดเป็น 11.55 % ระดับปริญญาตรี มีความต้องการจ้างผู้จบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 27,591 คน โดย 80 % ต้องการสาขาอุตสาหการ เครื่องกล ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และแมคคาทรอนิกส์ ขณะที่สาขาอื่นๆ เช่น บัญชี การเงิน กฎหมาย และงานธุรการ ต้องการเพียง 20 %เท่านั้น

     นอกจากนี้ ส.อ.ท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม สำรวจค่าจ้างอาชีพต่าง ๆ ในปี 2553 พบว่า ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ระดับ ปวช.เฉลี่ยอยู่ที่ 6,590 บาทต่อเดือน ระดับ ปวส.เฉลี่ย 7,697 บาทต่อเดือน ปริญญาตรีเฉลี่ย 11,518 บาทต่อเดือน ปริญญาโทเฉลี่ย 16,868 บาทต่อเดือน และปริญญาเอกเฉลี่ย 24,961 บาทต่อเดือน โดยสาขาวิศวกรรมมีค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ย 15,056 บาทต่อเดือน ขณะที่สาขาคหกรรมได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ย 10,133 บาทต่อเดือน ส่วนผู้มีประสบการณ์สาขาอาชีพที่มีค่าจ้างสูงสุดคือกลุ่มผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทนมีค่าจ้างประมาณ 141,893 บาทต่อเดือน

     จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นปัญหา คือ ไทยไม่มีการวางแผนผลิตกำลังคนร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดแคลนสายวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่สายสังคมกลับมีการผลิตออกมาล้นตลาด

     ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ ค่านิยมของเด็กไทยจะมุ่งเรียนต่อและเสาะหาใบปริญามากกว่าที่จะหางานทำเพื่อสร้างทักษะ ส่งผลให้ตลาดงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นตลาดใหญ่ขาดแคลนแรงงาน

     ผมขอส่งท้ายด้วยข้อสังเกตุว่าถ้าตลาดจะยังคงมีแต่ข้อมูลค่าจ้างตามวุฒิอย่างเดียวเช่นนี้คงกระตุ้นให้คนสนใจเรียนอาชีวะเน้นฝีมือ (Skills) ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าให้ค่าจ้างตามทักษะฝีมือไม่ใช่ตามวุฒิ คนเรียนจะฝึกและฝึกมากกว่าสอบและสอบ หรือติวแล้วสอบ ....

ดังนั้น มาช่วยกันสร้างสถาบันทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพกันครับ 


โดย : นายวีระศักดิ์  โค้วสุรัตน์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา


CR: http://thaipublicpolicy.com/blog.asp?b_id=37 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

View My Blog
Subscribe to RSS Feed Follow me on Twitter!